วันอังคารที่ 19 มกราคม พ.ศ. 2553

เกร็ดความรู้

ด้านภูมิศาสตร์

เรื่องขุนช้างขุนแผนนี้ กวีแต่งโดยไม่ได้ยกเมฆเอาชื่อตำบลหมู่บ้านมากล่าวลอยๆ แต่อาศัยความจริงที่เป็นอยู่เลยทีเดียว ทั้งชื่อสถานที่และเวลาเดินทางก็ไม่ผิดความจริง นับว่าภูมิประเทศในเรื่องขุนช้างขุนแผนถูกต้องแม่นยำมาก ในพระราชหัตถเลขาพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ครั้งเสด็จประพาสทางลำน้ำเมืองชัยนาท เมือองสุพรรณ ทรงกล่าวถึงตอนพลายแก้วไปทัพว่า
“ ปากช่องที่แม่น้ำอ้อมเรียกบางนางลาง เป็นทางซึ่งครอบครัวขุนแผนขึ้นมาส่งทัพ ซึ่งข้ามแม่น้ำที่เหนือพลับพลาวัดม่วงนี้หน่อยหนึ่ง แล้วจึงพากันลงไปปลูกโพธิ์สามต้นที่ใต้พลับพลานี้ลงไป เรื่องขุนช้างขุนแผน แผนที่เขามั่นคง ไม่เหลวไหลอย่างวงศ์ๆ จักรๆ ”

ด้านสังคมไทย

ในเรื่องนี้มีปรัชญาและความจริงของชีวิตปรากฏอยู่มาก การดำเนินชีวิตของคนในเมืองหลวงและในชนบทเป็นอย่างไร เรื่องขุนช้างขุนแผนกล่าวไว้อย่างละเอียด แนวความคิดของคนทั้งชายและหญิง ซึ่งเราอาจยึดถือเป็นแนวทางการดำเนินชีวิตได้ เช่น ชายมีความจงรักภักดีต่อพระมหากษัตริย์ หญิงมีความซื่อสัตย์จงรักภักดีและเชื่อฟังอยู่ในโอวาทของสามี คนมีความกตัญญูรู้คุณ เห็นคุณค่าของการศึกษา การรู้จักกาลเทศะ ฯลฯ

ด้านไสยศาสตร์

เรื่องขุนช้างขุนแผนกล่าวถึงเรื่องนี้ไว้มากมายเกือบจะตลอดทั้งเรื่อง ตัวละครดำเนินชีวิตไปภายใต้อิทธิพลของไสยศาสตร์และโหราศาสตร์ ความรู้สึกนึกคิดของตัวละครในบางครั้งขึ้นอยู่กับความเชื่อทางด้านนี้ และความรู้ทางด้านนี้ก็ทำให้เกิดความสำเร็จในการประกอบกิจกรรมหลายประการ จึงควรใช้วิจารณญาณในการศึกษาควบคู่กันไปด้วย

ด้านการศึกษาของเด็กไทย สมัยโบราณ

การศึกษาในสมัยโบราณเน้นที่การศึกษาของเด็กชาย การที่จะเข้ารับการศึกษาได้ก็ต้องบวช พลายแก้วแสดงความจำนงที่จะบวชว่า
“อยากจะเป็นทหารชาญชัย ให้เหมือนพ่อขุนไกรที่เป็นผี
จึงอ้อนวอนมารดาได้ปรานี ลูกนี้จะใคร่รู้วิชาการ
พระสงฆ์องค์ใดวิชาดี แม่นี้จงพาลูกนี้ไปฝากท่าน
ให้เป็นอุปัชฌาย์อาจารย์ อธิษฐานบวชลูกเป็นเณรไว้”
การศึกษาแผนโบราณของไทยนิยมให้การศึกษาทางด้านพุทธศึกษาแก่ชาย มีวัดเป็นสถานที่เรียน พระสงฆ์เป็นครู ค่านิยมทางการศึกษา คือ ฝึกคนเข้ารับราชการ ส่วนการศึกษาของผู้หญิงสมัยโบราณเน้นด้านเคหศาสตร์ เนื่องจากไม่นิยมให้ลูกหลานที่เป็นผู้หญิงออกไปเรียนหนังสือนอกบ้าน ลูกสาวชาวบ้านจึงได้รับการถ่ายทอดความรู้จากมารดาหรือญาติผู้ใหญ่ที่อยู่ในบ้าน ในเรื่องขุนช้างขุนแผนจะพรรณนาความสามารถของสตรีในการฝีมือและการครัวอย่างละเอียด เช่น การแกะสลักมะละกอของนางพิม การทำขนม การทำอาหาร ตัวละครในเรื่องขุนช้างขุนแผนอาจจะมีความสามารถในการอ่านหนังสือออกเขียนหนังสือได้ แต่ผู้แต่งไม่ได้จงใจบรรยายเกี่ยวกับการรู้หนังสือเลย ถ้าจะกล่าวถึงก็รวบรัดสั้นๆ ตรงกันข้างกับการศึกษาของเด็กชายซึ่งจะมีการพรรณนาละเอียดลออตั้งแต่วันที่พาไปฝาก ระบุชื่อสำนัก ชื่ออาจารย์และวิชาที่เรียน แสดงว่าสมัยโบราณเน้นการศึกษาของเด็กชายมากกว่า

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น