วันจันทร์ที่ 18 มกราคม พ.ศ. 2553

เสภา เรื่องขุนช้างขุนแผน



จินตนาการจากเรื่อง ขุนช้าง ขุนแผน ตอนนางพิมสั่งเรือน ภาพเขียนโดย นายจักรพันธุ์ โปษยกฤต
เสภาเป็นบทกลอนชนิดหนึ่งใช้ขับเพื่อความบันเทิง ได้รับความนิยมในหมู่นักเลงกลอนตั้งแต่สมัยอยุธยา และกลับมาเป็นที่นิยมอีกครั้งใน สมัยรัชกาลที่ ๒ และ ๓ แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ผู้แต่งเสภามักจะเลือกหานิทานนิยายเรื่องเล่าที่ตน เคยรู้จัก มาแต่งเป็นเรื่องราวต่อเนื่องกัน บทเสภาเรื่องขุนช้างขุนแผนจึงมีผู้แต่งหลายคน ใครพอใจจะขับเสภาตอนในก็แต่งขึ้นเองเฉพาะตอนที่ตนขับ ดังนั้น บางตอนจึงมีผู้แต่งหลายคน แต่ละคนจะมีสำนวนเฉพาะตน และมีรายละเอียดแตกต่างกัน เมื่อมีการรวบรวมบทเสภาเป็นเรื่องเดียว จึงต้องมีการตรวจสอบชำระ สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอกรมพระยาดำรงราชานุภาพทรงเป็นประธานชำระเรื่องขุนช้างขุนแผน เมื่อ พ.ศ. ๒๔๖๐ และได้ทรงวินิจฉัยเกี่ยวกับผู้แต่งด้วย ปรากฏว่า มีผู้แต่ง หลายคน เช่น พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว สุนทรภู่ ครูแจ้ง และยังไม่ทราบนามผู้แต่งบทเก่าอีกหลายตอน

บทเสภาเรื่องขุนช้างขุนแผนเป็นบทร้อยกรองที่มีความยาวมาก แต่งเป็นบทกลอนซึ่งมีแบบแผนฉันทลักษณ์เหมือนกลอนสุภาพ แต่เมื่อขึ้นต้นตอนใหม่ หรือกล่าวถึงบุคคลใหม่ จะใช้คำขึ้นต้นว่า "ครานั้น" เช่น

ครานั้นจึงโฉมเจ้าเณรแก้ว
เย็นแล้วจะไปเทศน์ก็ผลัดผ้า
ห่มดองครองแนบกับกายา
แล้วไปวันทาท่านขรัวมี

บทเสภาเรื่องขุนช้างขุนแผนมีเนื้อเรื่องเกี่ยวกับวิถีชีวิตของชาวบ้าน บางตอนกล่าวถึงพระมหากษัตริย์บ้าง แต่มิได้ต้องการแสดงเรื่องราวของพระมหากษัตริย์ นับได้ว่าเป็นเรื่องราวของคนไทยแท้ ๆ โดยมิได้ดัดแปลงจากวรรณกรรมของชาติอื่น ตัวละครในเรื่องมีชีวิตจิตใจราวกับคนจริงๆ ที่มีชีวิตอย่างคนธรรมดาซึ่งมีทั้งทุกข์และสุข ความสมหวัง และความผิดหวัง แก่นสำคัญของเรื่องกล่าวถึงรักสามเส้าของขุนแผน ขุนช้าง และนางพิมหรือนางวันทองการดำเนินเรื่องเริ่มต้นตั้งแต่ชีวิตวัยเด็กของตัวละครเอกทั้งสาม ความสมหวังในรักของขุนแผนหรือพลายแก้วกับนางพิม แล้วกลายเป็นการพลัดพรากจากกัน ไปสู่ความสมหวังในรักของขุนช้างที่มีต่อนางพิม เกิดการแย่งชิงความรักกันระหว่างขุนช้างกับขุนแผน การดำเนินเรื่องจะมีการแทรกเรื่องย่อยที่สนุกสนานตื่นเต้นสลับกับความเศร้ารันทด ขณะเดียวกัน ผู้อ่านผู้ฟังเสภาเรื่องนี้จะได้รับสารประโยชน์เกี่ยวกับค่านิยมของคนไทยในด้านไสยศาสตร์และโหราศาสตร์ประเพณีต่างๆ ลักษณะของชีวิตความเป็นอยู่สำนวนภาษา คำคมที่จับใจ และสุภาษิต การใช้ภาษาในบทเสภาเรื่องขุนช้างขุนแผนเป็นตัวอย่างที่คนไทยยึดถือและจดจำได้อย่างขึ้นใจ

ตัวอย่างโวหารแสดงความรัก จากเสภาเรื่องขุนช้างขุนแผน ตอนขุนแผนเดินทางไปกับวันทองในป่า ขุนแผนกล่าวย้ำความรักที่มีต่อวันทอง ดังนี้

"...โอ้แสนสุดสวาทของพี่เอ๋ย
อย่าคิดเลยพี่หาเป็นเช่นนั้นไม่
อันตัวเจ้าท่าเทียมกับดวงใจ
สิ้นสงสัยแล้วเจ้าอย่าเสียดแทง
พี่รักเจ้าเท่ากับเมื่อแรกรัก
ด้วยประจักษ์เห็นใจไม่กินแหนง..."

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น