วันอังคารที่ 19 มกราคม พ.ศ. 2553

เกร็ดความรู้

ด้านภูมิศาสตร์

เรื่องขุนช้างขุนแผนนี้ กวีแต่งโดยไม่ได้ยกเมฆเอาชื่อตำบลหมู่บ้านมากล่าวลอยๆ แต่อาศัยความจริงที่เป็นอยู่เลยทีเดียว ทั้งชื่อสถานที่และเวลาเดินทางก็ไม่ผิดความจริง นับว่าภูมิประเทศในเรื่องขุนช้างขุนแผนถูกต้องแม่นยำมาก ในพระราชหัตถเลขาพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ครั้งเสด็จประพาสทางลำน้ำเมืองชัยนาท เมือองสุพรรณ ทรงกล่าวถึงตอนพลายแก้วไปทัพว่า
“ ปากช่องที่แม่น้ำอ้อมเรียกบางนางลาง เป็นทางซึ่งครอบครัวขุนแผนขึ้นมาส่งทัพ ซึ่งข้ามแม่น้ำที่เหนือพลับพลาวัดม่วงนี้หน่อยหนึ่ง แล้วจึงพากันลงไปปลูกโพธิ์สามต้นที่ใต้พลับพลานี้ลงไป เรื่องขุนช้างขุนแผน แผนที่เขามั่นคง ไม่เหลวไหลอย่างวงศ์ๆ จักรๆ ”

ด้านสังคมไทย

ในเรื่องนี้มีปรัชญาและความจริงของชีวิตปรากฏอยู่มาก การดำเนินชีวิตของคนในเมืองหลวงและในชนบทเป็นอย่างไร เรื่องขุนช้างขุนแผนกล่าวไว้อย่างละเอียด แนวความคิดของคนทั้งชายและหญิง ซึ่งเราอาจยึดถือเป็นแนวทางการดำเนินชีวิตได้ เช่น ชายมีความจงรักภักดีต่อพระมหากษัตริย์ หญิงมีความซื่อสัตย์จงรักภักดีและเชื่อฟังอยู่ในโอวาทของสามี คนมีความกตัญญูรู้คุณ เห็นคุณค่าของการศึกษา การรู้จักกาลเทศะ ฯลฯ

ด้านไสยศาสตร์

เรื่องขุนช้างขุนแผนกล่าวถึงเรื่องนี้ไว้มากมายเกือบจะตลอดทั้งเรื่อง ตัวละครดำเนินชีวิตไปภายใต้อิทธิพลของไสยศาสตร์และโหราศาสตร์ ความรู้สึกนึกคิดของตัวละครในบางครั้งขึ้นอยู่กับความเชื่อทางด้านนี้ และความรู้ทางด้านนี้ก็ทำให้เกิดความสำเร็จในการประกอบกิจกรรมหลายประการ จึงควรใช้วิจารณญาณในการศึกษาควบคู่กันไปด้วย

ด้านการศึกษาของเด็กไทย สมัยโบราณ

การศึกษาในสมัยโบราณเน้นที่การศึกษาของเด็กชาย การที่จะเข้ารับการศึกษาได้ก็ต้องบวช พลายแก้วแสดงความจำนงที่จะบวชว่า
“อยากจะเป็นทหารชาญชัย ให้เหมือนพ่อขุนไกรที่เป็นผี
จึงอ้อนวอนมารดาได้ปรานี ลูกนี้จะใคร่รู้วิชาการ
พระสงฆ์องค์ใดวิชาดี แม่นี้จงพาลูกนี้ไปฝากท่าน
ให้เป็นอุปัชฌาย์อาจารย์ อธิษฐานบวชลูกเป็นเณรไว้”
การศึกษาแผนโบราณของไทยนิยมให้การศึกษาทางด้านพุทธศึกษาแก่ชาย มีวัดเป็นสถานที่เรียน พระสงฆ์เป็นครู ค่านิยมทางการศึกษา คือ ฝึกคนเข้ารับราชการ ส่วนการศึกษาของผู้หญิงสมัยโบราณเน้นด้านเคหศาสตร์ เนื่องจากไม่นิยมให้ลูกหลานที่เป็นผู้หญิงออกไปเรียนหนังสือนอกบ้าน ลูกสาวชาวบ้านจึงได้รับการถ่ายทอดความรู้จากมารดาหรือญาติผู้ใหญ่ที่อยู่ในบ้าน ในเรื่องขุนช้างขุนแผนจะพรรณนาความสามารถของสตรีในการฝีมือและการครัวอย่างละเอียด เช่น การแกะสลักมะละกอของนางพิม การทำขนม การทำอาหาร ตัวละครในเรื่องขุนช้างขุนแผนอาจจะมีความสามารถในการอ่านหนังสือออกเขียนหนังสือได้ แต่ผู้แต่งไม่ได้จงใจบรรยายเกี่ยวกับการรู้หนังสือเลย ถ้าจะกล่าวถึงก็รวบรัดสั้นๆ ตรงกันข้างกับการศึกษาของเด็กชายซึ่งจะมีการพรรณนาละเอียดลออตั้งแต่วันที่พาไปฝาก ระบุชื่อสำนัก ชื่ออาจารย์และวิชาที่เรียน แสดงว่าสมัยโบราณเน้นการศึกษาของเด็กชายมากกว่า

ความเป็นมาของเรื่องขุนช้างขุนแผน

ความเป็นมาของเรื่องขุนช้างขุนแผน
เรื่องขุนช้าง ขุนแผน มีเนื้อความปรากฏในหนังสือคำให้การชาวกรุงเก่า ซึ่งนับเป็นเรื่อง ในพระราชพงศาวดาร เรื่องขุนช้างขุนแผนนี้ เป็นวรรณกรรมอมตะ นิทานไทยพื้นบ้านของสุพรรณบุรีมาแต่ช้านาน เกิดขึ้นในสมัยกรุงศรีอยุธยาเป็นราชธานี ซึ่งมีหลักฐานอยู่ ในหนังสือคำให้การชาวกรุงเก่า โดยแต่งเป็นบทกลอนสำหรับขับเสภา( เสภาคือหนังสือกลอนโบราณ ที่นำเอานิทานมาแต่งเป็นกลอนสำหรับขับลำนำ ) ให้ประชาชนฟังเหลือมาถึงกรุงรัตนโกสินทร์บางตอนเพราะถูกไฟไหม้และสูญหายไปหายไป เมื่อครั้งเสียกรุงกับพม่า พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย รัชกาลที่ 2 ทรงโปรด ให้กวีหลายท่าน เช่น พระองค์ กรมหมื่นเจษฎาบดินทร์ (รัชกาลที่ ๓ ) สุนทรภู่ ครูแจ้ง เป็นต้นให้ช่วยกันแต่งเพิ่มเติมขึ้น โดยแบ่งกันแต่งเป็นตอน ๆ ไปจนจบเรื่อง
เสภาเรื่องขุนช้างขุนแผนฉบับที่รวบรวมในปัจจุบันมีทั้งหมด 43 ตอน แต่มีอยู่ 8 ตอนที่วรรณคดีสมาคม ซึ่งมีพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพทรงเป็นประธานได้ลงมติไว้ใน พ.ศ.2474 ว่าแต่งดีเป็นยอดเยี่ยม ได้แก่
1.ตอนพลายแก้วเป็นชู้นางพิม 5.ตอนกำเนิดพลายงาม
2.ตอนขุนช้างขอนางพิม 6. ตอนขุนช้างถวายฎีกา
3.ตอนขุนแผนขึ้นเรือนขุนช้าง 7.ตอนฆ่าวันทอง
4.ตอนขุนแผนพาวันทองหนี 8.ตอนพระไวยถูกเสน่ห์
พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัยโปรดการฟังขับเสภามาก พระองค์จึงโปรดเกล้าฯให้กวีในราชสำนักช่วยกันรวบรวมเรื่องขุนช้างขุนแผน และช่วยกันแต่งเสภาตอนที่ขาดไปตามที่กวีแต่ละคนถนัด พระองค์ก็ทรงพระราชนิพนธ์บทเสภาขุนช้างขุนแผนทั้งหมด 4 ตอนคือ
ตอนที่ 4 พลายแก้วเป็นชู้กับนางพิม
ตอนที่ 13 วันทองหึงลาวทอง
ตอนที่ 17 ขุนแผนขึ้นเรื่องขุนช้างได้นางแก้วกิริยา
ตอนที่18 ขุนแผนพาวันทองหนี

กลอน ขุนช้างขุนแผน

เสภาเรื่อง ขุนช้างขุนแผน
ยกออกนอกเมืองสวรรคโลก
ข้ามโคกเข้าป่าพนาศรี
เจ้าพลายกระสันพันทวี
รำลึกถึงนารีศรีมาลา
ถ้าแม้นแก้วแววตามาด้วยพี่
จะชวนชี้ชมไม้ไพรพฤกษา
คิดพลางเดินพลางตามทางมา
ข้ามท่าเขินเขาลำเนาธาร
แลเห็นเขาเงาเงื้อมชะง่อนชะโงก
เป็นกรวยโกรกน้ำสาดกระเซ็นซ่าน
ดูโครมครึกกึกก้องท้องพนานต์
พลุ่งพล่านมาแต่ยอดศิขรินทร์
เป็นชะวากวุ้งเวิ้งตะเพิงพัก
แง่ชะงักเงื้อมชะง่อนล้วนก้อนหิน
บ้างใสสดหยดย้อยเหมือนพลอยนิล
บ้างเหมือนกลิ่นภู่ร้อยห้อยเรียงราย
ตรงตระพักเพิงผาศิลาเผิน
ชะงักเงิ่นเงื้อมงอกชะแง้หงาย
ที่หุบห้วยเหวหินบิ่นทลาย
เป็นวุ้งโว้งเพรงพรายดูลายพร้อย
บ้างเป็นยอดกอดก่ายตะเกะตะกะ
ตะขรุตะขระเหี้ยนหักเป็นหินห้อย
ขยุกขยิกหยดหยอดเป็นยอดย้อย
บ้างแหลมลอยเลื่อมสลับระยับยิบ
บ้างงอกเง้าเป็นเงี่ยงบ้างเกลี้ยงกลม
บ้างโปปมเป็นปุ่มกะปุบกะปิบ
บ้างปอดแป้วเป็นพูดูลับลิบ
โล่งตะลิบแลตลอดยอดศิขรินทร์
เหล่ามิ่งไม้ไทรโศกอยู่ริมห้วย
ลมช่วยหล่นลอยกระแสสินธุ์
น้ำใสแลซึ้งถึงพื้นดิน
ฟุ้งกลิ่นสุมามาลย์บานระย้า
สัตตบุษย์บัวแดงขึ้นแฝงฝัก
พรรณผักพาดผ่านก้านบุบผา
แพงพวยพุ่งพาดพันสันตะวา
ลอยคงคาทอดยอดไปตามธาร.
พลายงาม(ตอนอาสาไปตีเชียงใหม่)
ครานั้นเพชรกล้าได้ฟังถาม
ก็ชื่นชอบตอบความหาช้าไม่
ซึ่งถามเราจะเล่าให้เข้าใจ
เจ้าชาวใต้ไม่รู้จู่ขึ้นมา
เราเป็นเชื้อเจ้าท้าวคำแมน
มียศถึงแสนตรีเพชรกล้า
เป็นเชื้อชาติทหารชาญศักดา
ในลานนาใครใครไม่ต่อแรง
พระครูผู้บอกวิทยา
ชื่อว่าศรีแก้วฟ้ากล้าแข็ง
สถิตยังเขาคำถ้ำวัวแดง
ทุุกหนแห่งเลื่องลือนับถือจริง
เจ้าหนุ่มน้อยนี่หรือชื่อพลายงาม
ช่างสมรูปสมนามดูงามยิ่ง
ตละแกล้งหล่อเหลาเพราพริ้ง
รูปร่างอย่างผู้หญิงพริ้งพรายตา
จะเปรียบลูกก็อ่อนกว่าลูกเล็ก
จะเปรียบหลานพาลจะเด็กกว่าหลานข้า
ไม่ควรจะรบสู้กับปู่ตา
กลับไปบอกบิดามารอนราญ
จะได้เป็นขวัญตาโยธาทัพ
เป็นฉบับแบบไว้ในทหาร
ยังเด็กอยู่คอยดูวิชาการ
เฮ้ยเจ้าหลานพ่ออยู่ไหนไปบอกมาฯ
ครานั้นพลายงามทรามคะนอง
ร้องตอบต่อคดีตรีเพชรกล้า
แน่เธออย่าเพ่ออหังการ์
เจรจาหมิ่นประมาทเราชาติเชื้อ
ตัวท่านแก่กายอย่างควายเฒ่า
อันตัวเราถึงเด็กเล็กลูกเสือ
ฝีมือใครไพร่ลาวแหลกเป็นเบือ
อย่าหลงเชื่อว่าผู้ใหญ่จะไม่แพ้
ถ้าไม่ดีที่ไหนใครจะมา
จะขอลองวิชากับตาแก่
ให้ปรากฏฤทธีว่าดีแท้
ฤๅเป็นแต่ปากกล้ากว่าฝีมือ
ขออภัยอย่าให้ถึงบิดา
แต่ลูกยาท่านจะชนะหรือ
มาลองดูสักหนให้คนลือ
จะปลกเปลี้ยเสียชื่อดอกกระมัง
ครานั้นแสนตรีเพชรกล้า
โกรธาตาแดงดั่งแสงครั่ง
เหม่อ้ายนี่หนักหนาว่าไม่ฟัง
มาโอหังอวดรู้สู้สงคราม
เท้ากระทืบกระทบโกลนโผนผก
มุ่นหมกขับคว้างมากลางสนาม
ท่วงทีขี่ม้าสง่างาม
รำง้าวก้าวตามกระบวนทวน

วันจันทร์ที่ 18 มกราคม พ.ศ. 2553

เสภา เรื่องขุนช้างขุนแผน



จินตนาการจากเรื่อง ขุนช้าง ขุนแผน ตอนนางพิมสั่งเรือน ภาพเขียนโดย นายจักรพันธุ์ โปษยกฤต
เสภาเป็นบทกลอนชนิดหนึ่งใช้ขับเพื่อความบันเทิง ได้รับความนิยมในหมู่นักเลงกลอนตั้งแต่สมัยอยุธยา และกลับมาเป็นที่นิยมอีกครั้งใน สมัยรัชกาลที่ ๒ และ ๓ แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ผู้แต่งเสภามักจะเลือกหานิทานนิยายเรื่องเล่าที่ตน เคยรู้จัก มาแต่งเป็นเรื่องราวต่อเนื่องกัน บทเสภาเรื่องขุนช้างขุนแผนจึงมีผู้แต่งหลายคน ใครพอใจจะขับเสภาตอนในก็แต่งขึ้นเองเฉพาะตอนที่ตนขับ ดังนั้น บางตอนจึงมีผู้แต่งหลายคน แต่ละคนจะมีสำนวนเฉพาะตน และมีรายละเอียดแตกต่างกัน เมื่อมีการรวบรวมบทเสภาเป็นเรื่องเดียว จึงต้องมีการตรวจสอบชำระ สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอกรมพระยาดำรงราชานุภาพทรงเป็นประธานชำระเรื่องขุนช้างขุนแผน เมื่อ พ.ศ. ๒๔๖๐ และได้ทรงวินิจฉัยเกี่ยวกับผู้แต่งด้วย ปรากฏว่า มีผู้แต่ง หลายคน เช่น พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว สุนทรภู่ ครูแจ้ง และยังไม่ทราบนามผู้แต่งบทเก่าอีกหลายตอน

บทเสภาเรื่องขุนช้างขุนแผนเป็นบทร้อยกรองที่มีความยาวมาก แต่งเป็นบทกลอนซึ่งมีแบบแผนฉันทลักษณ์เหมือนกลอนสุภาพ แต่เมื่อขึ้นต้นตอนใหม่ หรือกล่าวถึงบุคคลใหม่ จะใช้คำขึ้นต้นว่า "ครานั้น" เช่น

ครานั้นจึงโฉมเจ้าเณรแก้ว
เย็นแล้วจะไปเทศน์ก็ผลัดผ้า
ห่มดองครองแนบกับกายา
แล้วไปวันทาท่านขรัวมี

บทเสภาเรื่องขุนช้างขุนแผนมีเนื้อเรื่องเกี่ยวกับวิถีชีวิตของชาวบ้าน บางตอนกล่าวถึงพระมหากษัตริย์บ้าง แต่มิได้ต้องการแสดงเรื่องราวของพระมหากษัตริย์ นับได้ว่าเป็นเรื่องราวของคนไทยแท้ ๆ โดยมิได้ดัดแปลงจากวรรณกรรมของชาติอื่น ตัวละครในเรื่องมีชีวิตจิตใจราวกับคนจริงๆ ที่มีชีวิตอย่างคนธรรมดาซึ่งมีทั้งทุกข์และสุข ความสมหวัง และความผิดหวัง แก่นสำคัญของเรื่องกล่าวถึงรักสามเส้าของขุนแผน ขุนช้าง และนางพิมหรือนางวันทองการดำเนินเรื่องเริ่มต้นตั้งแต่ชีวิตวัยเด็กของตัวละครเอกทั้งสาม ความสมหวังในรักของขุนแผนหรือพลายแก้วกับนางพิม แล้วกลายเป็นการพลัดพรากจากกัน ไปสู่ความสมหวังในรักของขุนช้างที่มีต่อนางพิม เกิดการแย่งชิงความรักกันระหว่างขุนช้างกับขุนแผน การดำเนินเรื่องจะมีการแทรกเรื่องย่อยที่สนุกสนานตื่นเต้นสลับกับความเศร้ารันทด ขณะเดียวกัน ผู้อ่านผู้ฟังเสภาเรื่องนี้จะได้รับสารประโยชน์เกี่ยวกับค่านิยมของคนไทยในด้านไสยศาสตร์และโหราศาสตร์ประเพณีต่างๆ ลักษณะของชีวิตความเป็นอยู่สำนวนภาษา คำคมที่จับใจ และสุภาษิต การใช้ภาษาในบทเสภาเรื่องขุนช้างขุนแผนเป็นตัวอย่างที่คนไทยยึดถือและจดจำได้อย่างขึ้นใจ

ตัวอย่างโวหารแสดงความรัก จากเสภาเรื่องขุนช้างขุนแผน ตอนขุนแผนเดินทางไปกับวันทองในป่า ขุนแผนกล่าวย้ำความรักที่มีต่อวันทอง ดังนี้

"...โอ้แสนสุดสวาทของพี่เอ๋ย
อย่าคิดเลยพี่หาเป็นเช่นนั้นไม่
อันตัวเจ้าท่าเทียมกับดวงใจ
สิ้นสงสัยแล้วเจ้าอย่าเสียดแทง
พี่รักเจ้าเท่ากับเมื่อแรกรัก
ด้วยประจักษ์เห็นใจไม่กินแหนง..."

วันอังคารที่ 5 มกราคม พ.ศ. 2553

เรื่องย่อ





ขุนช้าง ขุนแผน (พลายแก้ว) และนางวันทอง (พิมพิลาไลย) เป็นคนเมืองสุพรรณบุรี เคยเป็นเพื่อนเล่นกันมาและต่างเป็นกำพร้าบิดา พลายแก้วกับมารดาอพยพไปอยู่กาญจนบุรี ต่อมาพลายแก้วบวชอยู่วัดป่าเลไลย สุพรรณบุรี มีโอกาสได้พบกับนางพิมและได้ลักลอบได้เสียกันทั้งที่พลายแก้วยังบวชเป็นเณรอยู่ ขุนช้างก็หลงรักนางพิมเช่นกัน แต่นางพิมรังเกียจ พลายแก้วลาสิกขาบทให้ยายทองประศรี ผู้เป็นมารดามาสู่ขอนางพิม พลายแก้วกับนางพิมแต่งงานกันได้เพียง ๒ วัน ก็ถูกเกณฑ์ไปทัพเชียงใหม่ ขุนช้างออกอุบายกลับจากกองทัพมาหลอกนางพิมซึ่งได้เปลี่ยนชื่อเป็นนางวันทองว่าขุนแผนตายแล้วนางพิมไม่เชื่อ แต่นางพิมต้องจำยอมแต่งงานกับขุนช้างเพราะถูกนางศรีประจันผู้เป็นแม่บังคับ ให้แต่งงานกับขุนช้าง เนื่องจากขุนช้างหลอกว่านางพิมถ้าไม่แต่งงานจะต้องเป็นม่ายหลวง พร้อมทั้งเอาเงินทองมาล่อแม่ของนางพิม



พลายแก้วกลับจากสงคราม ได้รับยศเป็นขุนแผนแสนทะท้านพร้อมทั้งได้นางลาวทองมาจากบ้านจอมทอง เกิดหึงหวงกับนางวันทอง ขุนแผนโมโหให้นางวันทองที่ด่าตนต่อหน้าจึงพานางลาวทองไปอยู่กับนางทองประศรีผู้เป็นแม่ที่กาญจนบุรี ด้วยความน้อยใจนางวันทองยอมเข้าห้องหอและถูกขุนช้างขืนใจ
ต่อมาขุนช้างแกล้งกล่าวโทษขุนแผนต่อพระพันวษา ขุนแผนต้องโทษไปตระเวรด่าน นางลาวทองถูกกักตัวไว้ในวัง ขุนแผนคิดแค้นขุนช้างเตรียมหาของวิเศา ๓ อย่าง คือ ดาบฟ้าฟื้น กุมารทอง และม้าสีหมอก เมื่อได้ของวิเศษ ๓ อย่างแล้ว บุกขึ้นบ้านขุนช้างได้นางแก้วกิริยาเป็นภรรยา




ขุนแผนพานางวันทองหนีไปอยู่ในป่าขุนช้างนำทัพกรุงศรีอยุทธยาออกจับแต่สู้ขุนแผนไม่ได้ ขุนแผนพานางวันทองซึ่งตั้งครรภ์แก่ไปอาศัยอยู่กับเจ้าเมืองพิจิตร แล้วขอให้เจ้าเมืองส่งตัวสู้คดีที่กรุงศรีอยุทธยา ขุนแผนชนะคดีได้นางวันทองเป็นกรรมสิทธิ์ แต่พระพันวษาทรงพระพิโรธที่ขุนแผนทูลขอนางลาวทองคืน จึงรับสั่งให้เอาตัวขุนแผนไปจำคุก ขุนช้างพาลูกน้องมาฉุดเอาตัวนางวันทองไปสุพรรณบุรี นางคลอดบุตรเป็นชาย ชื่อว่าพลายงาม ขุนช้างมีความพยาบาทล่อล่วงพลายงามไปฆ่าในป่า แต่ ผีพลายของขุนแผนช่วยไว้ นางวันทองออกตามหาลูกพลายงามเล่าให้แม่ฟังว่าถูกขุนช้างทำร้าย นางวันทองเล่าความจริงให้ พลายงามฟังว่าพ่อที่แท้จริงคือใคร นางให้พลายงามไปอยู่กับย่าที่กาญจนบุรี
พอพลายงามอายุ ๑๕ ปี ได้ถวายตังเข้ารับราชการ เกิดศึกเมืองเชียงใหม่ครั้งที่ ๒ พลายงามอาศาเป็นแม่ทัพและทูลขออภัยโทษให้ขุนแผนผู้บิดา เพื่อร่วมกันนำทัพไปทำศึกครั้งนี้ เมื่อยกกองทัพไปถึงเมืองพิจิตร พลายงามได้นางศรีมาลาลูกสาวพระพิจิตรเป็นภรรยา ทัพไทยตีได้เมืองแงเชียบงใหม่ คุมตัวเจ้าเมืองเชียงใหม่และครอบครัวลงมาที่กรุงศรีอยุทธยา ขุนแผนได้เลื่อนยศเป็น พระสุรินทรฤาไชยครองเมืองกาญจนบุรี พลายงามได้เปป็นจหมื่นไวยวรนาถ และได้พระพันวษาได้พระราชทานนางสร้อยฟ้าพระธิดาของพระเจ้าเชียงใหม่เป็นภรรยา และได้รับสั่งให้ประกอบพิธีแต่งงานระหว่างพระไวยกับนางศรีมาลาด้วย พระไวยคิดถึงแม่จึงลักลอบไปนำมาไว้ที่บ้าน ขุนช้างเข้าถวายฎีกาต่อพระพันวษา พระพันวษาจึงเรียกตัวผู้ที่เกี่ยวข้องมาชำระคดี


ระหว่างการชำระคดีพระพันวษาถามนางว้นทองว่าจะเลือกอยู่กับใคร ด้วยความกลัวว่าจะถูกลง อาญานางจึงไม่กล้า ที่เลือกว่าจะอยู่กับใคร จึงทำให้พระพันวษากริ้วมากรับสั่งให้นำตัวนางวันทองไปประหารชีวิต จมื่นไวยขอพระราชทานอภัยโทษให้มารดา แต่ก็ไม่ทันเนื่องจากนางถูกประหารก่อน

นางสร้อยฟ้าและนางศรีมาลาภรรยาของพระไวยวิวาทกัน พระไวยตัดสินใจให้นางสร้อยฟ้าผิด นางสร้อยฟ้แค้นจึงให้เถรขวด ทำเสน่ห์ให้พระไวยลุ่มหลง พลายชุมพลลูกของขุนแผนกับนางแก้วกิริยา เห็นเหตุการณ์ไม่สู้ดีหนีไปอยู่กับตายายที่เมืองสุโขทัย ได้ร่ำเรียนเวทมนต์คาถา คบคิดกับขุนแผนเพื่อถอนเสน่ห์ให้พระไวย พระพันวษาทราบเรื่องรับสั่งให้นางสร้อยฟ้าและนางศรีมาลาลุยไฟพิสูจน์ความบริสุทธิ์ นางสร้อยฟ้าถูกเนรเทศกลับเมืองเชียงใหม่ เถรขวดมีความพยาบาทพลายชุมพล จึงแปลงเป็นจระเข้ลงมา อาละวาทที่กรุงศรีอยุทธยา พลายชุมพลอาสาปราบจรเข้าและจับตัวมาถวายพระพันวษาได้ พระพันวษามีรับสั่งให้ประหารเสีย และทรงแต่งตั้งให้พลายชุมพลเป็นหลวงนาฤทธิ์





หนังสือเรื่อง ขุนช้างขุนแผน มีสำนวนหลากหลายเนื่องจากมีผู้แต่งหลายคน ตั้งแต่สมัยอยุทธยาจนถึงกรุงรัตนโกสินทร์ตอนต้น จึงสามารถสื่อให้เห็นความคิด ค่านิยม และวิถีชีวิติขิงคนไทยในสมัยนั้นๆ ได้ดี เสภาขุนช้างขุนแผน ตอน พลายแก้วเป็นชู้กับนางพิม กรมพระยาดำรงราชานุภาพทรงสันนิษฐานว่าเป็นสำนวน พระราชนิพนธ์ในพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย (รัชกาลที่ ๒)